โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง

จากรายงานผลการศึกษาภาวะโรคและบาดเจ็บของประชากรไทย พ.ศ. 2547 พบว่าโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับแรกของผู้หญิงไทยและคิดเป็น 15% ของการเสียชีวิต ในผู้ชายพบบ่อยเป็นอันดับสองรองมาจากโรคเอดส์และคิดเป็น 10% ของการเสียชีวิต นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความพิการซึ่งมีผลต่อการทำงานและการดูแลตนเองคิดเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงและอันดับ 3 ในผู้ชาย

อุบัติการณ์การเกิดโรคหลอดเลือดสมองในคนไทยประมาณ 250 รายต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งคำนวณได้ว่าน่าจะมีคนไทย เป็นโรคหลอดเลือดสมองปีละ 150,000 รายหรือคนไทยเป็นโรคนี้ 1 รายทุกๆ 4 นาที และเสียชีวิต 1 รายทุก 10 นาที

สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือ Stroke เป็นโรคที่เกิดจากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองมีความผิดปกติซึ่งมี 2 ชนิด คือหลอดเลือดสมองอุดตันและหลอดเลือดสมองแตก ทำให้สมองหยุดทำงานไปอย่างเฉียบพลัน จากการที่สมองไม่มีเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออกแทรกทับในเนื้อสมอง

70% ของโรคหลอดเลือดสมองเกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งเกิดจากสาเหตุสำคัญ 3 ประการ

1.การอุดตันของหลอดเลือดจากการเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด

2.ก้อนเลือดจากหัวใจ หรือตะกอนเลือด จากผนังหลอดเลือดแดงที่คอด้านหน้าหลุดเข้าอุดตันหลอดเลือดในสมอง

3.ความดันเลือดลดลงมากจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ

อีก 30% เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตก แบ่งได้เป็น 2 ชนิด

เลือดออกในเนื้อสมอง (Intracerebral hemorrhage หรือ ICH)
เลือดออกที่ผิวสมอง (Subarachnoid Hemorrhage หรือ SAH)
การเสื่อมหรือการแข็งตัวของหลอดเลือด เป็นสาเหตุของหลอดเลือดอุดตันที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงเช่น สูงอายุ ความดันเลือดสูง เบาหวาน สูบบุหรี่ หรือไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีปัจจัยเสี่ยงอย่างเดียวหรือหลายอย่างในคนเดียวกันก็ได้

หลอดเลือดของผู้ป่วยเหล่านี้จะค่อยๆ แข็งตัวและตีบลงเรื่อยๆ จากการที่มี ไขมัน ใยไฟบรินและแคลเซียมมาสะสมที่ผนังหลอดเลือด ที่เรียกว่า plaque เมื่อ plaque มีขนาดใหญ่ขึ้นจนเหลือช่องในหลอดเลือดเล็กลง จนเกิดการอุดตัน ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง สมองหยุดทำงานและเกิดอาการของโรคหลอดเลือดสมองขึ้น

อาการสำคัญของโรคหลอดเลือดสมอง 3 อย่าง

1.หน้าเบี้ยวหรือปากเบี้ยว (Face)

2.แขนไม่มีแรง (Arm)

3.พูดไม่ชัด พูดอ้อแอ้ หรือพูดไม่ออกเลย (Speedch)

อาการทุกข้อเกิดขึ้นทันที อย่างเฉียบพลัน

เมื่อเกิดอาการใดอาการหนึ่งหรือเกิดหลายอาการในคนเดียวกัน ต้องไม่รอช้าให้รีบไปโรงพยาบาลทันที (Time)

เมื่อนำคำหน้าในภาษาอังกฤษมาเรียงกันทำให้จำง่ายขึ้นคือ FAST

การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองขึ้นอยู่กับชนิดของโรคหลอดเลือดสมองซึ่งมีการรักษาแตกต่างกัน แต่มีการดูแลที่คล้ายกันดังนี้

1.การดูแลด้านการพาบาลเพื่อป้องกันโรคแทรกซ้อน

2.การดูแลด้านอาหาร น้ำและเกลือแร่

3.การกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัดและอรรถบำบัดในรายที่มีปัญหาการพูด

4.การดูแลด้านจิตใจ

5.การให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและญาติ

6.การวางแผนการกลับบ้าน

การรักษาโรคหลอดเลือดสมองชนิดที่ขาดเลือด จากการอุดตันของหลอดเลือดหรือจากความดันเลือดต่ำ (AIS)

1.การรักษาด้วยยา

2.การรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกในเนื้อสมอง (ICH) และเลือดออกในโพรงน้ำสมอง (IVH)

1.การป้องกันไม่ให้มีเลือดออกเพิ่ม

2.การรักษาด้วยยา

3.การรักษาโดยการผ่าตัด

 

การรักษาผู้ป่วยโรคเลือดออกที่ผิวสมอง (SAH)

1.การหาตำแหน่งจุดเลือดออก

2.การป้องกันไม่ให้มีเลือดออกเพิ่ม

3.การรักษาด้วยยาเพื่อป้องกันหลอดเลือดสมองหดตัว

4.การรักษาโดยการผ่าตัด

5.การรักษาโดยสอดใส่สายเข้าหลอดเลือด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคหลอเลือดสมอง

มีการอุดตันของหลอดเลือดสมองหรือมีเลือดออกในสมอง ผู้ป่วยมักมีแขนขาอ่อนแรง เครื่องไหวไม่ได้ เดินหรือลุกนั่งไม่ได้ รับประทานของทุกอย่างทางปากไม่ได้ มักจะเกิดภาวะแทรกช้อนจากการเคลื่อนไหวหรือกลืนไม่ได้ตามมาดังนี้

1.ปอดอักเสบ จากการกลืนลำบาก ทำให้มีการสำลักน้ำลายและเชื้อโรคในปากเข้าปอด ทำให้ปอดอักเสบ มักเกิดปลายสัปดาห์แรกของโรคเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของโรคแทรกช้อนที่พบได้บ่อยที่สุด

2.ปัสสาวะไม่ออก จากการไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหว การเดิน การที่รับประทานอาหารและน้ำได้น้อย และผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาต่อมลูกหมากโตในผู้ชายหรือกระบังลมหย่อนในผู้หญิง

3.ทางเดินปัสสาวะอักเสบ จากการปัสสาวะเองไม่ออก มีปัสสาวะค้างและทำให้มีเชื้อโรคสะสมในกระเพาะปัสสาวะ ต่อไปจะลุกลามไปที่ไตเกิดไตอักเสบมีไขหนาวสั่น ถ้าเชื้อโรคเข้ากระแสเลือดอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

4.ปวดไหล่และไหล่ติด พบได้บ่อยในผู้ป่วยที่แขนอ่อนแรงหรืออัมพาต เกิดจากการอักเสบของเอ็นกล้ามเนื้อที่อยู่รอบหัวไหล่ การที่แขนไม่มีการเคลื่อนไหว และน้ำหนักแขนดึกให้แขนตกลง ทำให้เกิดภาวะไหล่ทรุด

5.แผลกดทับ เกิดจากการนอนทับร่างกายบริเวณเดียวกันนานๆ (มักเกินกว่า 2 ชั่วโมง) ผิวหนังบริเวณนั้นจะตายและพุพองแตกออก มีเชื้อโรคเข้าไปในเนื้อบริเวณนั้น ต่อมามีการอักเสบ เนื้อตายเน่ากินลึกลงไปเรื่อยๆ การรักษาทำให้ได้ลำบากและหายช้ามาก แผลที่มีขนาดเท่าเหรียญสิบบาท อาจจะต้องใช้เวลารักษาถึง 2 เดือน

6.หลอดเลือดดำที่ขาอุดตัน เมื่อขาขยับเคลื่อนไหวไม่ได้ การไหลเวียนของเลือดดำที่ขาช้าลง ทำให้เลือดกลายเป็นลิ่มอุดตันหลอดเลือดดำที่ขาได้ ทำให้ขาบวม อันตรายเกิดจากลิ่มเลือดหลุดเข้าหัวใจห้องขวาบน ไปยังห้องขวาล่างแล้วไปอุดหลอดเลือดแดงของปอด ทำให้เนื้อปอดตาย ผู้ป่วยจะมีอาการหอบเหนื่อยและอาจเสียชีวิตได้

7.การหกล้ม เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแขนขาอ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวไม่ดี การเคลื่อนไหวช้า

8.ภาวะท้องผูก จากการไม่ได้เคลื่อนไหวและรับประทานได้น้อย

9.ภาวะเครียดและโรคซึมเศร้า เกิดจากการเจ็บป่วยอย่างเฉียบพลันโดยไม่ได้เตรียมใจมาก่อน ผู้ป่วยที่พูดไม่ได้หรือไม่เข้าใจสิ่งที่คนอื่นพูด จะเกิดภาวะนี้ได้ง่ายกว่า

10.สมองเสื่อม สมองที่เสียหายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงหรือมีเลือดออก ทำให้ความสามารถของสมองลดลง ยิ่งถ้าเกิดการเสียหายซ้ำบ่อยครั้งจะทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะสมองเสื่อมได้

การป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง

การป้องกันการเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ย่อมดีกว่าปล่อยให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมองหรือหลอดเลือดสมองแตกอย่างแน่นอน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ผู้คนทั่วไปกลัวการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตอย่างยิ่ง แต่ไม่รู้จะป้องกันอย่างไร เฝ้าแต่กังวล บางคนทราบวิธีแต่ไม่สามารถปฏิบัติได้ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่ง

หลักการป้องกันที่สำคัญ คือ การค้นหาว่าตนเองมีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงต้องควบคุมดูแลไม่ให้มากจนเกินไป ถ้าไม่มีก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิบัติตัวไม่ให้มีปัจจัยเสี่ยง ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ดังนี้

1.ความดันเลือดสูง คนปกติควรวัดความดันเลือดทุก 6 เดือน ค่าปกติไม่ควรเกิน 130/85 มม.ปรอท ถ้ายังไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มาก อย่ารับประทานอาหารเค็มจัด และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วควรปฏิบัติตัวเหมือนที่ยังไม่เป็นและรับประทานยาลดความดันเพื่อคุมความดันให้ต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท

2.เบาหวาน คนปกติควรตรวจน้ำตาลในเลือดทุกๆ 1 ปีค่าน้ำตาลในเลือดปกติไม่ควรเกิน 126 มก./ดล. ถ้ายังไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรรักษาน้ำหนักตัวไม่ให้มาก อย่ารับประทานอาหารหวานมาก และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วควรปฏิบัติตัวเหมือนที่ยังไม่เป็นและรับประทานยาหรือฉีดยาลดน้ำตาลให้คุมค่าน้ำตาลเฉลี่ย (HbA1C) ต่ำกว่า 7%

3.ไขมันในเลือดสูง คนปกติควรได้ตรวจไขมันในเลือดทุก 1 ปี ค่าปกติของคลอเลสเตอลอลไม่ควรเกิน 200 มก./ดล. ถ้ายังไม่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาการมันๆ เช่นของทอด อาหารผัดมันๆ อาหารใส่กะทิ เครื่องในและหนังสัตว์ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ ถ้าเป็นโรคหลอดเลือดสมองแล้วควรปฏิบัติเหมือนที่ยังไม่เป็น และรับประทานยาลดไขมันในกลุ่มยาสแตติน

4.บุหรี่ คนที่ไม่เคยสูบบุรี่ ก็ไม่ควรสูบ คนที่สูบอยู่แล้วต้องงดบุหรี่ ควรหยุดแบบเฉียบพลัน การค่อยๆ ลดลงมันจะกลับมาสูบใหม่ คนที่หยุดบุหรี่ 1 ปี โอกาสเสี่ยงเป็นโรคลดไป 50% และถ้าหยุดได้ 5 ปีโอกาสเกิดโรคจะเท่ากับคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่

5.โรคหัวใจเต้นพลิ้ว ตรวจพบได้โดยแพทย์เท่านั้น โดยขั้นแรกรู้จากการจับชีพจรพอทราบได้ว่าหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ ยืนยันด้วยการตรวจคลื่นหัวใจ ถ้ามีภาวะนี้ร่วมกับอายุที่มากกว่า 75 ปี เป็นความดันเลือดสูงหัวใจล้มเหลว เบาหวาน ควรได้ยาละลายลิ่มเลือดเพื่อป้องกันเลือดไม่ให้แข็งตัวในช่องหัวใจ

6.เหล้าหรือเครื่องดื่มท่ามีแอลกอฮอลล์ การดื่มแอลกอฮอลล์เป็นปัจจัยเสี่ยงของหลอดเลือดแตกในสมองจึงควรงดและหยุดการดื่ม

7.ปัจจัยอื่นๆ การควบคุมน้ำหนักและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อ่างน้อยครึ่งชั่วโมงต่อวัน เป็นจำนวน 4 วันต่อสัปดาห์ อย่าเอาแต่นั่งๆนอนๆ จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงเป็นโรคได้

ถ้าไม่อยากตายหรือพิการจากโรคหลอดเลือดสมองควรทำอย่างไร

ท่านที่ไม่อยากพิการหรือเสียชีวิตจากโรคนี้ ควรทำสิ่งต่อไปนี้

1.หาความรู้เรื่องโรคหลอดเลือดสมอง

2.ค้นหาปัจจัยเสี่ยงของตนเอง

3.หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือควบคุมปัจจัยเสี่ยงให้มีระดับใกล้เคียงปกติ

4.เมื่อเป็นควรรีบไปโรงพยาบาลทันที ท่านอาจจะดีขึ้นอย่างรวดเร็วหลังได้ยาฉีดละลายลิ่มเลือด