กลืนลำบาก สำลักบ่อย สูงวัยต้องระวัง

กลืนลำบาก สำลักบ่อย สูงวัยต้องระวัง

             หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุก็คือ กลืนลำบาก หรือความสามารถในการกลืนอาหารนั้นลดลง และทำให้เกิดการสำลักตามมาได้ สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างและหน้าที่การทำงานของช่องปาก คอหอย หลอดอาหาร และกลไกของระบบประสาทที่ควบคุมการกลืน หรือโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะสมองเสื่อม โรคพาร์กินสัน โรคทางระบบประสาท โรคทางจิตเวช รวมถึงโรคที่ทำให้กล้ามเนื้อมีภาวะเกร็ง ส่งผลให้ความสามารถในการกลืนของผู้สูงอายุลดลง ทำให้ผู้สูงอายุเกิดภาวะกลืนลำบากยิ่งขึ้น

             โดยในผู้สูงอายุที่มีภาวะหรือโรคต่างๆ เหล่านี้จะพบภาวะกลืนลำบากได้สูงถึง 50-75% และพบว่ามีภาวะสำลักเงียบร่วมตามมาด้วยได้ถึง 40–70 % ส่งผลให้เกิดปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรงตามมา และหากผู้สูงอายุมีภาวะปอดอักเสบติดเชื้อแล้ว จะพบมีภาวะสำลักเงียบสูงขึ้นไปถึง 71% ยิ่งไปกว่านั้น มีรายงานว่าในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี จะพบอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะปอดติดเชื้อจากการสำลักสูงถึงเกือบ 30%

กลืนลำบากคืออะไร

การกลืนลำบากมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ

           1.กลืนติด มักจะใช้กับสิ่งที่เป็นของแข็งมากกว่า เช่น กินข้าวแล้วติดคอ

           2.กลืนสำลัก จะเป็นพวกอาหารเหลว น้ำ กลืนแล้วก็มีการสำลัก หรือไอออกมา

สาเหตุสำคัญการกลืนลำบาก

             ภาวะกลืนลำบากเริ่มตั้งแต่ช่องปาก มาช่องคอ หลอดอาหาร ไปจนถึงกระเพาะอาหาร สาเหตุก็ไล่ตามลงไปเลย ตั้งแต่ในช่องปาก บางคนฟันไม่มี ต้องใส่ฟันปลอม บางคนเป็นอัมพฤกษ์-อัมพาตปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง หรือป่วยเป็นโรคพาร์กินสัน ทำให้การรับรู้ต่างๆ ของหลอดอาหารผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะสำลักได้ หรือการมีเนื้องอก มีก้อนเนื้อต่างๆ อยู่ตามหลอดอาหาร หรือยาวไปจนถึงกระเพาะอาหาร ทำเกิดการกลืนติด กลืนลำบากได้ ซึ่งแต่ละสาเหตุต้องแยกกัน โดยภาวะกลืนติด กลืนลำบากของแต่ละสาเหตุนั้น จะแสดงออกมาไม่เหมือนกัน บางสาเหตุมักจะกลืนติดของแข็งก่อน บางสาเหตุก็อาจจะกลืนติดของเหลวก่อน ซึ่งแพทย์จะประเมินหาสาเหตุ แล้วจึงหาทางรักษาแก้ไข

การสังเกตผู้สูงอายุ กับปัญหาการกลืน

  •  ไอหรือสำลักเวลากลืนอาหาร
  •  ต้องตัดแบ่งอาหารให้มีขนาดเล็กลงเพื่อให้สามารถกลืนได้ตามปกติ
  •  ต้องหลีกเลี่ยงอาหารบางชนิดเพราะทำให้สำลัก
  •  เสียงแหบ เสียงพร่า หลังจากกลืนอาหารลงไป
  •  รู้สึกว่ามีอาหารติดอยู่ในลำคอหรือหน้าอก
  •  น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ
  •  พฤติกรรมการรับประทานอาหารเปลี่ยนแปลง

ความผิดปกติของการกลืนในผู้สูงอายุ

             โดยทั่วไปการกลืนจะสามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะช่องปาก ระยะคอหอย และระยะหลอดอาหาร ซึ่งในผู้สูงอายุนั้น การกลืนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากความเสื่อมตามวัย ซึ่งพบได้ในแต่ละระยะ ดังนี้

  • ระยะช่องปาก

           ในผู้สูงอายุจะมีการรับความรู้สึกของช่องปากลดลง และอาจเกิดความรู้สึกเบื่ออาหารได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีอาการปากแห้ง ไม่มีฟันและกล้ามเนื้อในการบดเคี้ยวอาหารลดลง ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการบดเคี้ยวอาหารเพิ่มขึ้น และมีอาหารเหลือค้างในปากซึ่งส่งให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะปอดอักเสบจากการสำลักได้

  • ระยะคอหอย

           ผู้สูงอายุจะกลืนช้ากว่าคนทั่วไป เนื่องจากความแรงในการหดตัวของกล้ามเนื้อคอหอยลดลง การยกตัวของกล่องเสียงเพื่อปิดฝากล่องเสียงช้าลง ทำให้อาหารค้างอยู่ในแอ่งบริเวณนี้มากขึ้น เสี่ยงต่อการสำลักอาหารเข้าสู่ทางเดินหายใจ

  • ระยะหลอดอาหาร

           ในวัยสูงอายุระยะเวลาที่หูรูดหลอดอาหารส่วนต้นเปิดจะสั้นลง อาหารจึงค้างบริเวณคอหอยได้มาก รวมถึงแรงในการบีบไล่อาหารของหลอดอาหารลดลงเช่นกัน ซึ่งหากผู้สูงอายุทานอาหารเสร็จแล้วนอนทันทีอาจส่งผลให้เกิดภาวะเกิดกรดไหลย้อนได้ง่าย

           นอกจากที่กล่าวมาแล้วนั้น การหายใจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งเช่นกัน โดยหากการหายใจของผู้สูงอายุไม่สัมพันธ์กับการกลืนก็ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการสำลักอาหารได้เช่นกัน

ข้อปฏิบัติเมื่อมีปัญหาเรื่องการกลืน

             1.ต้องมีสมาธิ : เวลากินอาหารอย่าทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกัน เช่น ดูทีวีไปด้วย พูดคุยไปด้วย เพราะผู้สูงอายุต้องใช้เวลาและสมาธิพอสมควรในการเคี้ยวและกลืนอาหาร การที่ทำหลายๆ อย่างพร้อมกันจะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการสำลักหรือกลืนติดได้

             2.อย่ากินข้าวคำ-น้ำคำ : เวลาผู้สูงอายุกินอาหาร อย่ากินข้าวคำ-น้ำคำ เพราะลำคอจะปรับสภาพไม่ได้ เช่น เดี๋ยวกินน้ำ เดี๋ยวกินข้าว พอปรับสภาพไม่ได้ก็เกิดการสำลักเกิดขึ้น

             3.ปรับสภาพอาหารให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุแต่ละคน : ผู้สูงอายุบางคนกินน้ำแล้วสำลัก เพราะกินเข้าไปแล้วมันลงไปเร็วเกิน พอผู้สูงอายุกลืนไม่ทันก็ไหลลงหลอดลม ดังนั้นจึงควรทำอาหารให้หนืดขึ้น ส่วนเรื่องอุปกรณ์ในการกิน แทนที่จะใช้แบบยกดื่มก็ลองเปลี่ยนเป็นหลอดเล็กๆ ให้ดูด ก็จะลดโอกาสสำลักของผู้สูงอายุได้

             4.หากมีอาการทั้งหมดที่กล่าวมา ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ

             วัยสูงอายุหรือวัยชราเป็นอีกหนึ่งช่วงวัยที่ควรได้รับการเอาใจใส่ทั้งสภาพจิตใจและสภาพร่างกาย เนืองด้วยวัยสูงอายุนั้นเป็นช่วงวัยที่ร่างกายเริ่มโรยรา และหากอยู่ในสภาพแวดล้อมหรือสังคมที่ไม่เหมาะสมด้วยแล้วก็จะทำให้กลายเป็นปัญหาของจิตใจตามไปด้วย

             จึงเป็นบทบาทที่สำคัญของตัวผู้สูงอายุเองและผู้ดูแลที่จะต้องใส่ใจในเรื่องดังกล่าว รวมถึงกิจวัตรประจำวันที่จะนำไปสู่อันตรายถึงชีวิตอย่างการสำลักอาหารที่เรากล่าวถึงในบทความข้างต้น และทุกการป้องกันย่อมดีกว่าการรักษาเสมอ การสังเกตอาการและระมัดระวังไม่ให้เกิดการสำลักในผู้สูงอายุ จึงกลายเป็นหนึ่งความสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อคุณภาพที่ดีทำกิจวัตรประจำวันของทางผู้สูงอายุ หรือแม้กระทั่งการดำเนินชีวิตที่ทุกท่านสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้นั่นเอง

             เดอะซีเนียร์เป็นศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและโรงพยาบาลผู้สูงอายุเดอะซีเนียร์ ทำให้เราเข้าใจดีในเรื่องการดูแลผู้ป่วยสูงอายุ และผู้สูงอายุที่ต้องการความใส่ใจการดูแลครอบคลุมทุกด้าน  ทั้งด้านการพยาบาล การฟื้นฟูร่างกาย  ด้านอาหารและโภชนาการ โดยทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ดูแล กายภาพบำบัดวิชาชีพและนักโภชนาการ 

             เดอะซีเนียร์สามารถดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุต้องการช่วยเหลือ ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง และผู้ป่วยพักฟื้นหลังจากการผ่าตัด ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ให้อาหารทางสาย เจาะคอ จนถึงกลุ่มผู้ป่วยที่ยังต้องให้ออกซิเจน หรือเครื่องช่วยหายใจ (Home Ventilator) ด้วยประสบการณ์การดูแลและความเชี่ยวชาญในผู้สูงอายุมากกว่า 25 ปี และการพัฒนาที่ต่อเนื่อง จึงทำให้เราเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ ด้านการดูแล ด้านกิจกรรมบำบัด และฟื้นฟูหลังออกจากโรงพยาบาล

 

สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมของโรงพยาบาลเดอะซีเนียร์ได้ที่
โทร : 090-885-2985, 094-498-1115

LINE OFFICIAL : @thesenior